

ปิโตรเลียมส่วนใหญ่อยู่ใต้พื้นดิน จึงต้องมีการสำรวจและขุดเจาะเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ การสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมมีความยุ่งยากและซับซ้อนมาก ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงและเงินทุนจำนวนมาก ปัจจุบันการสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมบริเวณพื้นดินได้ทำจนทั่วแล้ว จึงมีการขยายการสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมไปในบริเวณทะเลหรือมหาสมุทร การสำรวจต้องใช้หลายวิธีประกอบกัน เริ่มจากการสำรวจทางธรณีวิทยาด้วยการทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ แล้วจึงสำรวจธรณีวิทยาพื้นผิวโดยการเก็บตัวอย่างหิน ศึกษาลักษณะของหินวิเคราะห์ซากพืชซากสัตว์ที่อยู่ในหิน ผลการศึกษาช่วยให้คาดคะเนได้ว่าจะมีโอกาสพบโครงสร้างและชนิดของหินที่เอื้ออำนวยต่อการกักเก็บปิโตรเลียมในบริเวณนั้นมากน้อยเพียงใด การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ด้วยการวัดค่าความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กโลก บอกให้ทราบถึงขอบเขต ความหนา ความกว้างใหญ่ของแอ่งและความลึกของชั้นหิน และการตรวจวัดค่าความโน้มถ่วงของโลกเพื่อทราบชนิดของชั้นหินใต้ผิวโลกในระดับต่างๆ ซึ่งจะช่วยในการกำหนดขอบเขตและรูปร่างของแอ่งใต้ผิวดิน การสำรวจด้วยการวัดคลื่นไหวสะเทือน จะช่วยบอกให้ทราบตำแหน่ง รูปร่างลักษณะและโครงสร้างของชั้นหินใต้ดิน
ผลการสำรวจเหล่านี้ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ช่วยให้สันนิษฐานว่าน่าจะมีแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมอยู่หรือไม่ ขั้นสุดท้ายจึงเป็นการเจาะสำรวจซึ่งจะบอกให้ทราบถึงความยากง่ายของการขุดเจาะเพื่อนำปิโตรเลียมมาใช้ รวมทั้งบอกให้ทราบว่าสิ่งที่กักเก็บอยู่เป็นแก๊สธรรมชาติหรือน้ำมันดิบ และมีปริมาณมากน้อยเพียงใด ข้อมูลจากการเจาะสำรวจจะนำมาใช้ในการตัดสินถึงความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ เมื่อเจาะสำรวจพบปิโตรเลียมในรูปแก๊สธรรมชาติหรือน้ำมันดิบแล้ว ถ้าหลุมใดมีความดันภายในสูง ปิโตรเลียมจะถูกดันให้ไหลขึ้นมาเอง แต่ถ้าหลุมใดมีความดันภายในต่ำจะต้องเพิ่มแรงดันจากภายนอก โดยการอัดแก๊สบางชนิด เช่น แก๊สธรรมชาติ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ หรือไอน้ำลงไป
ประเทศไทยสำรวจพบแหล่งน้ำมันดิบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2464 ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นได้สำรวจพบแหล่งน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติเพิ่มขึ้น โดยพบแหล่งแก๊สธรรมชาติที่มีปริมาณมากพอในเชิงพาณิชย์ในอ่าวไทย เมื่อปี พ.ศ. 2516 และต่อมาพบที่บริเวณอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
ผลการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเลรวม 55 แหล่ง พบว่ามีปริมาณสำรองที่ประเมินได้ดังนี้
• น้ำมันดิบ 806 ล้านบาร์เรล
• แก๊สธรรมชาติ 32 ล้านลูกบาศก์ฟุต
• แก๊สธรรมชาติเหลว 688 ล้านบาร์เรล
ปัจจุบันน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในประเทศ ได้มาจากน้ำมันดิบทั้งในประเทศและต่างประเทศ แหล่งน้ำมันดิบที่
ใหญ่ที่สุดของประเทศ ได้แก่ น้ำมันดิบเพชรจากแหล่งสิริกิติ์ กิ่งอำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร สำหรับแหล่งผลิตแก๊สธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในอ่าวไทยเจาะสำรวจพบเมื่อปี พ.ศ. 2523 มีชื่อว่า แหล่งบงกช ปัจจุบันประเทศไทยใช้ปิโตรเลียมในรูปแบบต่างๆ เทียบเป็นปริมาณน้ำมันดิบประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อเดือน ในจำนวนนี้ร้อยละ 30 - 35 เป็นปิโตรเลียมที่ผลิตได้ภายในประเทศ แหล่งสะสมปิโตรเลียมขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบันคือ บริเวณอ่าวเปอร์เซีย รองลงมาคือ บริเวณอเมริกากลาง อเมริกาเหนือ และรัสเซีย ปิโตรเลียมที่พบบริเวณประเทศไนจีเรียจัดเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีคุณภาพดีที่สุด เพราะมีปริมาณสารประกอบของกำมะถันปนอยู่น้อยที่สุด


หน่วยที่ใช้วัดปริมาณน้ำมันดิบคือบาร์เรล (barrel) 1 บาร์เรล มี 42 แกลลอน หรือ 158.987 ลิตร
ถ้าเทียบปริมาตรกับขวดบรรจุน้ำดื่มขนาดใหญ่ซึ่งมีขนาดประมาณ 5แกลลอน หรือประมาณ 19 ลิตร
น้ำมันดิบ 1 บาร์เรลจะมีปริมาณเท่ากับน้ำดื่ม 8 ขวดใหญ่
![]() |
หน่วยที่ใช้วัดปริมาตรของแก๊สธรรมชาติ นิยมใช้หน่วยวัดเป็นลูกบาศก์ฟุต (ที่อุณหภูมิ 60 องศาฟาเรนไฮต์
และความดัน 30 นิ้วของปรอท)
|

ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น